
สาขาวิชาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมมือกับ กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ จัดค่ายการเรียนรู้ภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ ระหว่างวันที่ 10-11 มิถุนายน 2566 ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประกอบด้วยฐานการเรียนรู้ สร้างสรรค์การทำแผนที่ ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลกด้วยดาวเทียม การสำรวจทรัพยากรด้วยอากาศยานไร้คนขับ เครื่องมือและเทคโนโลยีการสำรวจ วิทยากรบรรยายโดยคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาภูมิสารสนเทศ
ฐานเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริษฐ์ กิตติ์ธนารุจน์ บทบาทของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในด้านการพัฒนาพื้นที่ ด้านขอบเขตการปกครอง ผังเมือง โครงข่ายสาธารณูปโภค เส้นทางการคมนาคม แหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่สาธารณะรวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน
ฐานสร้างสรรค์การทำแผนที่ บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกลักษณ์ สลักคำ และอาจารย์ชนัดดา รัตนา การรวบรวมข้อมูลภูมิศาสตร์เพื่อสร้างแผนที่ การเลือกใช้สัญลักษณ์ จุด (Point symbol) เส้น(Line symbol) และพื้นที่ (Area symbol)ให้เหมาะสมกับข้อมูล รวมถึงการออกแบบแผนที่ (Map layout) การวางองค์ประกอบแผนที่ให้เหมาะสมกับชนิดของแผนที่
ฐานการระบุตำแหน่งบนพื้นโลกด้วยดาวเทียม บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริษฐ์ กิตติ์ธนารุจน์ และ อาจารย์ชลาวัล วรรณทอง การใช้เครื่องมือในการระบุตำแหน่งบนพื้นโลก โดยอาศัยข้อมูลของตำแหน่งและเวลาของดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก
ฐานการสำรวจทรัพยากรด้วยอากาศยานไร้คนขับ บรรยายโดย อาจารย์ณัฐพล วงษ์รัมย์ การใช้อากาศยานไร้คนขับในการถ่ายภาพทางอากาศ ประกอบด้วย กฎหมายและข้อบังคับ ประเภท องค์ประกอบ การเตรียมพร้อมก่อนบิน การวางแผนการบิน ตลอดจนการฝึกปฏิบัติการใช้อากาศยานไร้คนขับ
ฐานเครื่องมือและเทคโนโลยีการสำรวจ บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐวุฒิ ทะนันไธสง ประกอยด้วย รูปลักษณ์ องค์ประกอบ มาตราส่วน การกำหนดตำแหน่งด้วยระบบพิกัดภูมิศาสตร์ (Geographic Coordinate System)ระบบพิกัดกริด UTM (Universal Transvers Mercator Coordinate System) รวมถึงการใช้เครื่องมือในการวัดและหาพื้นที่จริงบนภูมิประเทศ
สำหรับการจัดค่ายการเรียนรู้ภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณคณาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหารและกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยบุรีรัมย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่เป็นกำลังสำคัญทำให้กิจกรรมสำเร็จ บรรลุตามวัตถุประสงค์