
สาขาวิชาภูมิสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2565 แสดงเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-information technology) ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2565 ณ อาคารนวัตปัญญา เนื้อหาประกอบด้วย
การรับรู้จากระยะไกล (RS) เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการศึกษาองค์ประกอบต่าง ๆ บนพื้นโลกและในชั้นบรรยากาศ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้โดยการเลือกใช้ข้อมูลจากดาวเทียมที่มีความละเอียดของภาพและประเภทของดาวเทียมหลากหลาย นอกจากนี้ข้อมูลจากการสำรวจจากระยะไกลเป็นข้อมูลที่ได้มาอย่างรวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการได้ทันที
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) กระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ วิเคราะห์ นำเสนอข้อมูลและประยุกต์ใช้ในการวางแผนจัดการทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบดาวเทียมนำทางโลก (GNSS) สามารถนำมาใช้กำหนดตำแหน่งเชิงพื้นที่ และติดตามการเคลื่อนที่ของคนและสิ่งของได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศจึงเป็นวิทยาการที่สำคัญที่หลายหน่วยงานได้นำมาพัฒนาประเทศ ในหลากหลายด้าน เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตร ผังเมือง การจราจรและการขนส่ง ความมั่นคงทางการทหาร ภัยธรรมชาติ และการค้าเชิงธุรกิจผลการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสามารถนำมาประกอบการวางแผนการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
การสำรวจและทำแผนที่ การแสดงภาพ ตำแหน่ง รายละเอียดต่าง ๆ ที่ปรากฏบนพื้นผิวของพื้นที่โครงการที่เราสำรวจ ลงในแบบด้วยขนาดย่อส่วนหรือมาตราส่วนที่เหมาะสม โดยแทนสิ่งต่าง ๆ ด้วยสัญลักษณ์เครื่องหมายและชนิดลายเส้น ซึ่งอ้างอิงกับระบบพิกัดที่ใช้ในการสำรวจ