สาขาวิชาภูมิสารสนเทศจัดประชุมปฏิบัติการและเวทีเสวนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ภายใต้โครงการบริการวิชาการภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2565 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถนำความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทักษะการใช้เครื่องมือ ไปใประยุกต์ช้ในการทำงาน และเพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ ได้บูรณาการการเรียนการสอนกับการบริการวิชาการ โดยกิจกรรมนี้ได้บูรณาการกับรายวิชาสัมมนาทางภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ รายวิชาเตรียมฝึกประสบการณ์วิชาชีพฯ และเตรียมฝึกสหกิจ ณ ห้องประชุมทานตะวัน ชั้น 1 อาคาร 12และ ห้องปฏิบัติการภูมิสารสนเทศ ชั้น 10 อาคาร 22
โดยภายในงานมีการบรรยายเกี่ยวกับ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศปัจจุบันและอนาคต โดย คุณชาคริส พิทักษ์รัตนสกุล นักพัฒนานวัตกรรม สำนักบริหารโครงการ ธีออส-2 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทราบความก้าวหน้าและอนาคตของเทคโนโลยีภูมิศาสตร์ รวมถึงความก้าวด้านสายงานภูมิสารสนเทศ และการเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานด้านภูมิสารสนเทศ จากนั้นเป็นเวทีเสวนาแนวทางอาชีพด้านภูมิสารสนเทศปัจจุบันและอนาคต โดยได้รับเกียรติจากศิษย์เก่าผู้มีประสบการณ์จากหลากหลายอาชีพด้านภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนบนเวที ได้แก่
- คุณชาคริส พิทักษ์รัตนสกุล นักพัฒนานวัตกรรม จาก GISTDA
- คุณอิสระพล พิมพ์พิมาย เจ้าหน้าประเมิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- คุณอัยดา แก้วระวัง นักวิชาการอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์
- คุณสมรัตน์ อินสำราญ พนักงานประเมิน ธอส. บริษัท เดอะแวลูเอชั่น แอนด์ คอนซัลแทนท์ส จำกัด (สาขาบุรีรัมย์)
- คุณสรรธาร พชสิทธิ์ ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ดำเนินรายการโดย อาจารย์ณัฐพล วงษ์รัมย์ อาจารย์สาขาวิชาภูมิสารสนเทศ โดยเวทีเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานในสายอาชีพทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมถึงแนวทางการพัฒนาตนเองในสายอาขีพ และแนวทางการเตรียมตัวสำหรับผู้ที่จะทำงานในสายอาชีพนี้
ช่วงบ่ายเป็นการอบรมความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมและเครื่องมือในการสำรวจด้านภูมิสารสนเทศ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้การใช้โดรนสำรวจในงานประเมินทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เพื่อการวัดขนาดแม่นยำเทียบเท่าการวัดด้วยเครื่องมือภาคสนาม จากธนาคารและบริษัทประเมินทรัพย์สิน โดยผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้และประสบการณ์ และแนวทางการประยุกต์เครื่องมือภูมิสารสนเทศในการพัฒนางานในอนาคต รวมถึงหลักสูตรยังได้แนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับแนวประกอบอาชีพของนักศึกษาในอนาคตอีกด้วย